บทสวดมนต์ก่อนนอนวันนี้
พุทธชัยมงคลคาถา
พาหุงมหากาฯ
คาถาแห่งชัยชนะ
พุทธชัยมงคลคาถา หรือบทสวดพาหุงมหากา เป็นบทสวดที่ชาวพุทธส่วนใหญ่รู้จักและนิยมสวดกันมาก โดยเฉพาะในกลุ่มลูกศิษย์ที่นับถือในองค์หลวงพ่อจรัญ (พระธรรมสิงหบุราจารย์) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี บทสวดนี้มีปรากฏในคัมภีร์ชั้นฎีกา ชื่อฎีกาพาหุง เป็นบทสวดกล่าวสรรเสริญชัยชนะที่เป็นมงคลของพระพุทธเจ้า 8 ครั้ง คือ
1) ชนะพญามารและเสนามาร ด้วยพระบารมี 30 ทัศ มีทานบารมีเป็นต้น
2) ชนะอวฬวกยักษ์ ที่เหี้ยมหาญด้วยขันติธรรม
3) ชนะช้างตกมันที่เมามายวิ่งมาดุจไฟป่าด้วยเมตตาธรรม
4) ชนะจอมโจรองคุลิมาลด้วยการวางกุสโลบายด้วยฤทธิ์
5) ชนะหญิงที่ใส่ร้ายป้ายสี ด้วยความสงบนิ่ง
6) ชนะนักโต้วาทีฝีปากกล้าด้วยพระปัญญาที่ยอดเยี่ยม
7) ชนะนาคเกเรอันธพาลด้วยการส่งพระสาวกไปปราบ
8) ชนะพรหมที่มีความเห็นผิดด้วยญาณวิธี
บทสวดพาหุงมหากานี้ ในรัชสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้เขียนคาถานี้ไว้ในธงเฉลิมพลประจำกองทหารอาสา เพื่อสร้างขวัญกำลังแก่เหล่าทหารหาญที่ไปร่วมออกรบ
หลวงพ่อจรัญได้เล่าจากนิมิตของท่านว่า คาถาพาหุงมหากานี้สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้วแต่งขึ้นถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงภาวนาเป็นคาถาประจำพระองค์ ทั้งในยามปกติและยามออกรบ ทำให้พระองค์มีชัยเสมอมา
ดังนั้น พุทธชัยมงคลคาถานี้ ผู้ใดสวดภาวนาเป็นประจำจักทำมีชัยชนะเหนืออุปสรรคศัตรูทั้งปวง ทำการสิ่งใดจักสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี การงานก้าวหน้า ชะตาไม่ตกอับ การงานรุ่งเรือง ความรักสมหวัง โรคภัยหนีหาย เคราะห์ร้ายหนีห่าง สุข สมหวัง ทุกประการ ไม่ขอให้เชื่อแต่อยากให้พิสูจน์ด้วยตัวเอง
บทสวดพาหุง มีอานุภาพให้มีชัยชนะและประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนา
พุทธชัยมงคลคาถา
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
1. มาราติเรกมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันติสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
2. นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธนา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
3. อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
4. กัตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
5. สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
6. นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
7. ทุคคาหะทิฏฐิพุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณะคะเทนะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม* ชะยะมังคลานิ.
8. เอตาปิ พุทธะชัยมังคะละอัฏฐะคาถา
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ.
*เม แปลว่า แก่เรา สวดให้แก่ตัวเรา เต แปลว่า แก่ท่าน หมายถึงสวดให้ผู้อื่น
คำแปลบทพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุง)
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชำนะพญามาร ซึ่งได้เนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างพลายครีเมขล์ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องกึกก้อง ด้วยธรรมวิธีมีทานบารมี เป็นต้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชำนะอาฬวกยักษ์ดุร้ายผู้มีจิตกระด้างลำพอง หยาบช้ายิ่งกว่าพญามารเข้ามารุกรานราวีตลอดรุ่งราตรี ด้วยวิธีทรมานเป็นอันดี คือ ขันติธรรมนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชำนะพญาช้างนาฬาคิรีงกำลังเมามัน ร้ายแรงเหมือนไฟป่าที่ลุกลาม ร้องโกญจนาทเหมือนฟ้าฟาด ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำคือ พระเมตตานั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชำนะองคุลิมาลโจร ทารุณร้ายกาจนัก ทั้งฝีมือเยี่ยม ควงดาบไล่ตามพระองค์ไปตลอดทาง ๓ โยชน์ ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์นั้นขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชำนะนางจิญจมาณวิกาทำมารยาเสแสร้งกล่าวโทษพระองค์ โดยผูกท่อนไม้กลมแนบเข้ากับท้อง ทำเป็นท้องแก่ด้วยสมาธิวิธีในท่ามกลางที่ประชุมชนนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ผู้รุ่งเรืองด้วยดวงประทีป คือพระปัญญา ได้พบทางชำนะสัจจกนิครนถ์ ผู้มีนิสัยตลบตะแลงมีสันดานโอ้อวดมืดมน ด้วยพระปัญญาดุจประทีปอันโชติช่วงนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี โปรดให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส เนรมิตกายเป็นนาคราชไปทรมานนันโทปนันทนาคราช ผู้มีฤทธิ์มาก แต่มีความรู้ผิดด้วยวิธีแสดงอุปเท่ห์แห่งฤทธิ์นั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
ด้วยเดชานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชำนะท้าวพกพรหมผู้มีฤทธิ์มีความสำคัญตนผิด ว่าเป็นผู้มีฤทธิ์ รุ่งเรืองด้วยวิสุทธิคุณ ถือมั่นด้วยมิจฉาทิฏฐิ เหมือนดังถูกงูร้ายกำลังตรึงไว้แน่นแฟ้น ด้วยวิธีประทานยาพิเศษ คือ เทศนาญาณนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลาย
จงมีแก่ท่าน.
นรชนใดไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ คาถา แม้เหล่านี้ทุกๆ วัน นรชนนั้นพึงละเสียได้ซึ่งอุปัทวันตรายมีประการต่างๆ เป็นอเนก ถึงซึ่งวิโมกข์สิวาลัย อันเป็นบรมสุขแล.
ชยปริตร (มหากา)
บท มหากาฯ บทสวดขอให้บังเกิดชัยชนะและความสำเร็จในทุกกิจการงาน
มะหาการุณิโก นาโถ
หิตายะ สัพพะปาณินัง
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา
ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โหตุ เม ชะยะมังคะลัง.
ชะยันโต โพธิยา มูเล
สักยานัง นันทิวัฑฒะโน
เอวัง อะหัง วิชะโย โหมิ
ชะยามิ ชะยะมังคะเล
อะปะราชิตะปัลลังเก
สีเส ปะฐะวิโปกขะเร
อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง
อัคคัปปัตโต ปะโมทะติ.
สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ
สุยิฏฐัง พ๎รัห๎มะจาริสุ
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง
วาจากัมมัง ปะทักขิณัง
ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง
ปะณิธีเต ปะทักขิณา
ปะทักขิณานิ กัตวานะ
ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ
คำแปลบทชยปริตร (มหากา)
พระพุทธเจ้า ทรงเป็นที่พึ่งของโลก ประกอบด้วยพระมหากรุณา ยังบารมีทุกประการให้เต็มเปี่ยมแล้ว เพื่อเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้วด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคล จงมีแก่ท่านเถิด.
ขอท่านจงเป็นผู้มีชัยชนะ จงประสบผลสำเร็จในมงคลพิธี เหมือนพระจอมมุนี ทรงชนะพญามารและเสนามารที่ควงต้นโพธิ์พฤกษ์ เพิ่มพูนความยินดีแก่เหล่าประยูรญาติศากยวงศ์ทรงถึงความเป็นผู้เลิศปราโมทย์อยู่ ณ อปราชิตบัลลังก์ เหนือผืนแผ่นดินอันเป็นจอมปฐพี ซึ่งเป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์.
สัตว์ทั้งหลาย เมื่อประพฤติสุจริต ในเวลาใด เวลานั้น ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี ยามสว่างดียามรุ่งดี ขณะดี ครู่ดี บูชาดี ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรม อันเป็นประทักษิณ (กุศล) วจีกรรม อันเป็นประทักษิณ (กุศล) มโนกรรม อันเป็นประทักษิณ (กุศล) ความปรารถนาของท่าน อันเป็นประทักษิณ สัตว์ทั้งหลาย ทำกรรมอันเป็นประทักษิณแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องขวา.
สัพพะมงคลคาถา
สวดเพื่อขอความสิริมงคล และความสวัสดี จากพระรัตนตรัยและเทวดา
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ
สะทา โสตถี ภะวันตุ เม.
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ
สะทา โสตถี ภะวันตุ เม.
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ
สะทา โสตถี ภะวันตุ เม.
คำแปลบทสัพพมงคลคาถา
ขอสรรพมงคล จงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ.
ขอสรรพมงคล จงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ.
ขอสรรพมงคล จงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อเทอญ.
ใจความสำคัญ : บทสวดที่พรรณนาชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ ประการ ได้แก่ ๑) ชนะพญามารและเสนามาร ด้วยพระบารมี ๓๐ ทัศ มีทานบารมีเป็นต้น ๒) ชนะอาฬวกยักษ์ที่เหี้ยมหาญด้วยขันติธรรม ๓) ชนะช้างตกมันที่เมามายวิ่งมาดุจไฟป่าด้วยเมตตาธรรม ๔) ชนะจอมโจรองคุลิมาลด้วยการวางกุศโลบายด้วยฤทธิ์ ๕) ชนะหญิงที่ใส่ร้ายป้ายสีด้วยความสงบนิ่ง ๖) ชนะนักโต้วาทีฝีปากกล้าด้วยพระปัญญาที่ยอดเยี่ยม ๗) ชนะนาคเกเรอันธพาลด้วยการส่งพระสาวกไปปราบ ๘) ชนะพรหมที่มีความเห็นผิดด้วยญาณวิธี บทสุดท้าย เอตาปิ เป็นบทสรุป
อานุภาพ : วรรคที่ ๑ ใช้สวดเมื่อถูกผู้มีอิทธิพลเหนือกว่ารังแก โดยภาวนา ๓ จบก่อนนอน
วรรคที่ ๒ ใช้สวดป้องกันภูตผีปีศาจ และคุณไสย สวดเสกน้ำมนต์ เอาตะไคร้ ต้นข่าจุ่มรดและฟาดคนที่ถูกผีเข้า ผีจะหนีไกล
วรรคที่ ๓ ใช้สวดภาวนาป้องกันสัตว์ร้าย เสกอาหารให้สัตว์กินทำสัตว์ให้เชื่อง
วรรคที่ ๔ ใช้สวดภาวนา ๓ จบ ก่อนออกจากบ้านจะแคล้วคลาดจากโจรผู้ร้าย คนอันธพาล
วรรคที่ ๕ ใช้สวดภาวนาทำน้ำมนต์ให้สตรีที่คลอดลูกยากดื่ม จะทำให้คลอดง่าย
วรรคที่ ๖ ใช้สวดภาวนาก่อนนอน ๓ จบแก้คนนินทา ใส่ความ
วรรคที่ ๗ ใช้สวดภาวนาป้องกันงู ตะขาบ นาค และสัตว์มีพิษต่างๆ
วรรคที่ ๘ ใช้สวดภาวนาปราบคนหัวดื้อ ลูกที่เกเร
ประวัติ : เป็นบทสวดที่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นฎีกา ชื่อ ฎีกาชยมังคลอัฏฐกเทสนา (พาหุง) มีผู้รู้สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พร้อมกับบทสัมพุทเธ มงคลจักรวาลใหญ่ มงคลจักรวาลน้อย แต่ตามนิมิตฝันของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) เป็นบทสวดที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แต่งถวายพระพรชัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่มา : ฎีกาชยมังคลอัฏฐกเทสนา (พาหุง). สำนวนนาคประทีป, โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง : ๒๕๒๐
ประยุกต์ใช้ : พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คือการเอาชนะกิเลสในใจของตน คนที่เอาชนะกิเลสของตนได้ชื่อว่าได้ชัยชนะที่ประเสริฐที่สุด การที่พระพุทธเจ้ามีชัยชนะเหนืออริมารทั้ง ๘ ครั้งนี้ได้ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ทรงเอาชนะกิเลสในพระทัยของพระองค์ได้แล้วนั่นเอง
รวบรวมเรียบเรียงโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
น.ธ.เอก, ป.ธ.๗, พธ.บ. (ภาษาไทย)
บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์