บทไตรสรณคมน์
ใจความสำคัญ : สวดแสดงตนเป็นชาวพุทธรับเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
ประวัติ : หลังจากส่งพระสาวก ๖๐ รูปไปประกาศศาสนาพรรษาแรก ปรากฏว่ามีกุลบุตรเลื่อมใสออกบวชมากมาย เพื่อให้การประกาศศาสนาเป็นไปโดยสะดวก พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้พระสาวกบวชให้กุลบุตรเอง ด้วยการให้ผู้บวชเปล่งวาจารับไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ที่มา : พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ (ภาษาบาลี) เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๒ ข้อที่ ๓๔
ประยุกต์ใช้ : การเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพียงแค่การเปล่งวาจาประกาศตนเป็นชาวพุทธนั้น ยังไม่ชื่อว่าเป็นชาวพุทธโดยสมบูรณ์ และยังไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการนับถือพระรัตนตรัย จนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรมคำสอนและลงมือปฏิบัติจนบังเกิดผลเป็นความสงบสุขแก่ตน มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ออกธุดงค์ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีผู้มีวิชาแก่กล้าปล่อยตะขาบยักษ์มาเพื่อลองของ ท่านได้บริกรรมบทไตรสรณคมน์เป็นเกราะป้องกัน ทำให้ตะขาบยักษ์ไม่สามารถทำอันตรายได้ อนึ่ง เมื่อเด็กไม่สบายพระจะใช้บทนี้บริกรรมเป่ากระหม่อมหรือทำฝ้ายผูกข้อมือ