บทสวดพุทธคุณ ๑๐๐ ประการ
บทสวดพุทธคุณ ๑๐๐ ประการนี้ ปรากฎในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อุบาลีวาทสูตร เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับ ณ ป่ามะม่วงของเศรษฐี ใกล้เมืองนาลันทา มีนักบวชนอกศาสนาลัทธินิครนถ์ ได้เข้ามาประลองปัญญา โต้วาทะกับพระพุทธเจ้าอยู่เนืองนิตย์ คราหนึ่งอุบาลีคฤหบดี มีชื่อเสียงและเงินทองมาก ซึ่งเป็นสาวกของนิครนนาฏบุตร ต้องการจะข่มพระพุทธเจ้าด้วยวาทะของตน จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วตรัสถามปัญหาต่างๆ ลำดับนั้นพระพุทธเจ้า ได้ตรัสสอนอุบาลีในเรื่องกรรมจนทำให้อุบาลีคฤหบดีไม่อาจโต้ตอบได้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงอนุบุพพิกถาอริยสัจจ์ ๔ จนทำให้อุบาลีได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน สิ้นความสงสัยในพระรัตนตรัย อุบาลีได้กล่าวแสดงตนเป็นพุทธบริษัทถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ตลอดชีวิต แล้วทูลลากลับไป
ฝ่ายนิครนถ์นาฏบุตร ได้ทราบว่าอุบาลีผู้เป็นสาวกของตน เปลี่ยนฝ่ายไปนับถือพระรัตนตรัย จึงมีความร้อนรน ได้เข้าไปพบอุบาลีถึงที่อยู่ ตั้งใจหมายให้อุบาลีกลับตัวมานับถือตนเหมือนเช่นเดิม ฝ่ายอุบาลีคฤหบดีผู้เป็นพระโสดาบัน ได้ชี้แจงแก่นินครนถ์ว่าตนได้เป็นสาวกพระผู้มีพระภาคแล้ว ทั้งกล่าวอีกว่า “คำสอนของนิครนถ์นั้น อดทนต่อความยินดีของคนโง่ ไม่อดทนต่อความยินดีของบัณฑิต” ทำให้นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวทักท้วงอุบาลีว่า “ในเมืองนี้ทุกคนต่างรู้ว่าท่านอุบาลีเป็นสาวกของนิครนถ์ แล้วขณะนี้ท่านเป็นสาวกของผู้ใด ?” ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดี จึงได้ยืนขึ้นห่มผ้าเสวียงบ่า ประนมมือ หันหน้าไปทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วกล่าวคาถาสรรเสริญพระพุทธคุณ จำนวน ๑๐๐ ประการคือจำนวน ๑๐๐ หัวข้อไม่ซ้ำกัน อย่างองอาจ จนทำให้นิครนถ์นาฏบุตรอาเจียนเป็นโลหิต ณ ที่นั้น.
บทสวดพุทธคุณ ๑๐๐ บทนี้ มีความพิเศษคือได้นำเสนอพระพุทธคุณที่หลากหลายและแตกต่างจากพุทธคุณที่ปรากฏในที่อื่นๆ และเชื่อเหลือเกินว่าในพุทธคุณ ๑๐๐ บทนี้ ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเป็นบทที่ท่านไม่เคยได้ยินได้ฟังหรือไม่เคยรับรู้มาก่อน ซึ่งเป็นข้อดีของการสวดบทนี้เพราะจะทำให้เราได้รู้ถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าในแง่มุมที่เราไม่เคยรู้ และให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์มากยิ่งขึ้น
บทสวดที่เป็นคำบาลีคัดจากอุปาลิวาทสูตรโดยตรง ส่วนคำแปลนั้นผู้เขียนได้แปลขึ้นเอง โดยเทียบเคียงจากคำแปลในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย และสำนวนการแปลของหลวงปู่พุทธทาสในหนังสือ “สวดมนต์แปล บทพิเศษต่างๆ” (จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒๗ พ.ศ. ๒๕๕๖) ชื่อบทว่า มหาพุทธโถมนาการปาฐะ ทั้งนี้เพื่อให้ได้สำนวนที่กระชับทันสมัย เข้าใจง่ายขึ้นจุดประสงค์ของการสวดพุทธคุณ ๑๐๐ บทนี้ ก็เพื่อยังจิตของผู้สวดที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าให้เลื่อมใส ที่เลื่อมใสอยู่ในแล้วให้เลื่อมใสมากยิ่งขึ้น ความเลื่อมใสศรัทธา พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นยอดแห่งอริยทรัพย์ เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นบุญกุศลที่จะติดตามตนไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
มหาพุทธโถมนาการปาฐะ (พุทธคุณ ๑๐๐ บท)
(นำ) หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต โถมะนาการะปาฐัง ภะณามะ เส.
เชิญเถิด เราทั้งหลาย มากล่าวบทชมเชยพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นพระพุทธเจ้ากันเถิด.
เตนะหิ ภันเต สุโณหิ,
ดูก่อนท่านผู้เจริญ, ขอท่านจงฟังซึ่งคำของข้าพเจ้า:
ยัสสาหัง สาวะโก,
ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใด,
ธีรัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นนักปราชญ์ มีปัญญามาก(๑)
วิคะตะโมหัสสะ, ทรงเป็นผู้ปราศจากโมหะคือความหลง(๒)
ปะภินนะขีลัสสะ, ทรงเป็นผู้ทำลายกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู(๓)
วิชิตะวิชะยัสสะ, ทรงเป็นผู้มีชัยชนะอันวิชิตแล้ว(๔)
อะนิฆัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่มีทุกข์จากกิเลสและวิบาก(๕)
สุสะมะจิตตัสสะ, ทรงเป็นผู้มีจิตเสมอด้วยดีในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย(๖)
พุทธะสีลัสสะ, ทรงเป็นผู้มีศีลสมกับที่เป็นพุทธบุคคล(๗)
สาธุปัญญัสสะ, ทรงเป็นผู้มีปัญญาดี(๘)
เวสะมันตะรัสสะ, ทรงเป็นผู้ข้ามวัฏสงสารอันขรุขระ(๙)
วิมะลัสสะ, ทรงเป็นผู้ปราศจากมลทินทั้งปวง(๑๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัสมิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
อะกะถังกะถิสสะ,
พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นผู้ไม่มีการกล่าวถามว่าอะไรเป็นอะไร(๑๑)
ตุสิตัสสะ, ทรงเป็นผู้มีพระทัยแช่มชื่นเบิกบาน(๑๒
วันตะโลกามิสัสสะ, ทรงเป็นผู้คายเหยื่อ ในโลกทิ้งเสียแล้ว(๑๓)
มุทิตัสสะ, ทรงเป็นผู้มีมุทิตาจิตในสัตว์ทั้งหลาย(๑๔)
กะตะสะมะณัสสะ, ทรงเป็นผู้มีสมณธรรมอันทำสำเร็จแล้ว(๑๕)
มะนุชัสสะ, ทรงเป็นผู้เกิดโดยชาติแห่งมนุษย์(๑๖)
อันติมะสะรีรัสสะ, ทรงเป็นผู้มีสรีระชาติสุดท้าย ไม่เกิดอีก(๑๗)
นะรัสสะ, ทรงเป็นยอดแห่งนระ(๑๘)
อะโนปะมัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่มีบุคคลใดเปรียบเทียบได้(๑๙)
วิระชัสสะ, ทรงเป็นผู้ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี(๒๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
อะสังสะยัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นผู้สิ้นความสงสัยในธรรมทั้งปวง(๒๑)
กุสะลัสสะ, ทรงเป็นผู้ฉลาดกำจัดกิเลสดุจหญ้าคา(๒๒)
เวนะยิกัสสะ, ทรงเป็นผู้ชี้นำเวไนยสัตว์สู่โลกุตรธรรม(๒๓)
สาระถิวะรัสสะ, ทรงเป็นนายสารถีผู้ประเสริฐ(๒๔)
อะนุตตะรัสสะ, ทรงเป็นผู้ยวดยิ่งอย่างไม่มีใครยิ่งกว่า(๒๕)
รุจิระธัมมัสสะ, ทรงเป็นผู้มีธรรมอันงามเป็นที่ชอบใจ
ของสรรพสัตว์(๒๖)
นิกกังขัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่มีสิ่งใดให้กังขา(๒๗)
ปะภาสะกะรัสสะ, ทรงเป็นผู้ทำแสงสว่างแก่โลก(๒๘)
มานัจฉิทัสสะ, ทรงเป็นผู้ตัดขาดได้แล้วซึ่งมานะ(๒๙)
วีรัสสะ, ทรงเป็นผู้กล้าหาญถึงพร้อมด้วยความเพียร(๓๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัสมิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
นิสะภัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นผู้องอาจกว่าบุคคลทั้งปวง(๓๑)
อัปปะเมยยัสสะ, ทรงเป็นผู้มีคุณกำหนดประมาณไม่ได้(๓๒)
คัมภีรัสสะ, ทรงเป็นผู้มีพระคุณลึกซึ้งหยั่งถึงได้ยาก(๓๓)
โมนัปปัตตัสสะ, ทรงเป็นผู้เข้าถึงความเป็นแห่งมุนี(๓๔)
เขมังกะรัสสะ, ทรงเป็นผู้ทำความเกษมแก่หมู่สัตว์(๓๕)
เวทัสสะ, ทรงเป็นผู้มีเวทคือความรู้แจ้งเจาะแทงโมหะ(๓๖)
ธัมมัฏฐัสสะ, ทรงเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม(๓๗)
สุสังวุตัตตัสสะ, ทรงเป็นผู้สำรวมพระองค์ด้วยดี(๓๘)
สังคาติคัสสะ, ทรงเป็นผู้ก้าวข้ามกิเลสเป็นเหตุข้อง1(๓๙)
มุตตัสสะ, ทรงเป็นผู้หลุดแล้วจากบ่วงแห่งมาร(๔๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
นาคัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นนาคะคือพระอรหันต์ผู้ประเสริฐ(๔๑)
ปันตะเสนัสสะ, ทรงเป็นผู้มีเสนาสนะอันสงัด
คือบรรทมหลับสนิทได้อย่างเป็นสุข(๔๒),
ขีณะสัญโญชะนัสสะ, ทรงเป็นผู้มีสังโยชน์ อันสิ้นแล้ว(๔๓)
วิมุตตัสสะ, เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากทุกข์ทั้งปวง,(๔๔)
ปะฏิมันตะกัสสะ, ทรงเป็นผู้มีปัญญาคิดอ่านในการโต้ตอบ(๔๕)
โมนัสสะ, ทรงเป็นผู้มีภาวะแห่งความเป็นมุนี(๔๖)
ปันนะธะชัสสะ, ทรงเป็นผู้ลดธงคือมานะลงได้แล้ว(๔๗)
วีตะราคัสสะ, ทรงเป็นผู้ปราศจากราคะ(๔๘)
ทันตัสสะ, ทรงเป็นผู้มีพระองค์ที่ฝึกดีแล้ว(๔๙)
นิปปะปัญจัสสะ,
ทรงเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้เนิ่นช้า(๕๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
อิสิสัตตะมัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นพระพุทธเจ้า องค์ที่ ๗(๕๑)
อะกุหัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่คดโกงลวงหลอกโลก(๕๒)
เตวิชชัสสะ, ทรงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวิชชา ๓(๕๓)
พ๎รัห๎มะสัตตัสสะ, ทรงเป็นดังพรหมของสัตว์โลก(๕๔)
น๎หาตะกัสสะ, ทรงเป็นผู้ล้างหมดสิ้นแล้ว(๕๕)
ปะทะกัสสะ, ทรงเป็นผู้ถึงบทคือพระนิพพาน(๕๖)
ปัสสัทธัสสะ, ทรงเป็นผู้สงบระงับจากกิเลสทั้งปวง(๕๗)
วิทิตะเวทัสสะ, ทรงเป็นผู้รู้แจ้งธรรมที่ควรรู้แจ้ง(๕๘)
ปุรินทะทัสสะ, ทรงเป็นผู้ประทานอมตธรรมก่อนผู้ใด(๕๙)
สักกัสสะ, ทรงเป็นผู้องอาจสามารถอย่างยิ่ง(๖๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
อะริยัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นพระอริยะห่างไกลจากกิเลส(๖๑)
ภาวิตัตตัสสะ, ทรงเป็นผู้อบรมตนเจริญถึงที่สุดแล้ว(๖๒)
ปัตติปัตตัสสะ, ทรงเป็นผู้บรรลุคุณที่ควรบรรลุแล้ว(๖๓)
เวยยากะระณัสสะ, ทรงเป็นผู้อธิบายเนื้อความให้แจ่มแจ้ง(๖๔)
สะติมะโต, ทรงเป็นผู้มีสติสมบูรณ์อยู่ทุกเมื่อ(๖๕)
วิปัสสิสสะ, ทรงเป็นผู้เห็นแจ้งในธรรม(๖๖)
อะนะภิณะตัสสะ,
ทรงเป็นผู้ไม่แฟบลงตามอำนาจแห่งกิเลส(๖๗)
โน อะปะณะตัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่ฟูขึ้นตามอำนาจแห่งกิเลส(๖๘)
อาเนชัสสะ, ทรงเป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหว(๖๙)
วะสิปปัตตัสสะ, ทรงเป็นผู้ถึงความมีอำนาจเหนือกิเลส(๗๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
สัมมัคคะตัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นผู้เสด็จไปแล้วโดยชอบ(๗๑)
ฌายิสสะ, ทรงเป็นผู้มีฌานเครื่องแผดเผากิเลส(๗๒)
อะนะนุคะตันตะรัสสะ,
ทรงเป็นผู้ไม่ปล่อยจิตไปตามอำนาจกิเลส(๗๓)
สุทธัสสะ, ทรงเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง(๗๔)
อะสิตัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่มีความสะดุ้ง(๗๕)
อัปปะภีตัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่มีความหวาดกลัว(๗๖)
ปะวิวิตตัสสะ,
ทรงเป็นผู้สงัดทั่วแล้วทั้งภายในและภายนอก(๗๗)
อัคคัปปัตตัสสะ, ทรงเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นเลิศ(๗๘)
ติณณัสสะ, ทรงเป็นผู้ข้ามได้แล้วซึ่งวัฏสงสาร(๗๙)
ตาระยันตัสสะ,
ทรงเป็นผู้ยังบุคคลอื่นให้ข้ามแล้ว ซึ่งวัฏสงสารนั้น(๘๐),
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
สันตัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น, ทรงเป็นผู้สงบระงับแล้ว(๘๑)
ภูริปัญญัสสะ, ทรงเป็นผู้มีปัญญากว้างใหญ่ดุจแผ่นดิน(๘๒)
มะหาปัญญัสสะ, ทรงเป็นผู้มีปัญญาอันใหญ่หลวง(๘๓)
วีตะโลภัสสะ, ทรงเป็นผู้ปราศจากโลภะ คือความโลภ(๘๔)
ตะถาคะตัสสะ, ทรงเป็นผู้เข้าถึงซึ่งความเป็นเช่นนั้น(๘๕)
สุคะตัสสะ, ทรงเป็นผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี(๘๖)
อัปปะฏิปุคคะลัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่มีบุคคลเปรียบเทียบได้(๘๗)
อะสะมัสสะ, ทรงเป็นผู้ไม่มีบุคคลใดเสมอเหมือน(๘๘)
วิสาระทัสสะ, ทรงเป็นบุคคลผู้มีญาณอันแกล้วกล้า(๘๙)
นิปุณัสสะ, ทรงเป็นผู้มีปัญญาละเอียดอ่อน(๙๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ.
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น.
ตัณหัจฉิทัสสะ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น,
ทรงเป็นผู้มีตัณหาอันตัดขาดแล้ว(๙๑)
พุทธัสสะ, ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน(๙๒)
วีตะธูมัสสะ, ทรงเป็นผู้ปราศจากกิเลสดุจควันไฟ(๙๓)
อะนุปะลิตตัสสะ, ทรงเป็นผู้อันกิเลสทั้งหลายฉาบทาไม่ได้(๙๔)
อาหุเนยยัสสะ, ทรงเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา(๙๕)
ยักขัสสะ, ทรงเป็นผู้ที่ชาวโลกควรทำพลีกรรม(๙๖)
อุตตะมะปุคคะลัสสะ, ทรงเป็นผู้สูงสุดกว่าบุคคลทั้งหลาย(๙๗)
อะตุลัสสะ, ทรงเป็นผู้มีคุณอันใครๆ ชั่งวัดไม่ได้(๙๘)
มะหะโต, ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่(๙๙)
ยะสัคคัปปัตตัสสะ, ทรงเป็นผู้ถึงความเลิศด้วยเกียรติคุณ(๑๐๐)
ภะคะวะโต ตัสสะ สาวะโกหะมัส๎มิ,
ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น
อิติ ดังนี้แล.
พุทธคุณ ถือเป็นยอดแห่งอุดมมงคล
เสกใส่พระเครื่องก็ศักดิ์สิทธิ์ เขียนเป็นยันต์ก็เกิดฤทธิ์อานุภาพ
ดัดแปลงเป็นมนต์คาถาภาวนาก็เกิดผล ๑๐๘ ประการ
นำมาสวดสรรเสริญเช้า-เย็นก่อนนอนก็เป็นบุญกุศล
ใช้เป็นอารมณ์ในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
ตามหลัก “พุทธานุสสติ” จิตก็ตั้งมั่นเกิดปัญญารู้แจ้งในธรรม
นำให้ถึงความพ้นทุกข์ได้
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธคุณจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใดสร้างให้เกิดมีขึ้นในกาย
ในใจตนแล้ว ย่อมบังเกิดความเป็นสิริมงคล
อุดมด้วยความสุข ความเจริญยิ่ง
บทความโดย ศักดิ์สิทธิ์ พันธ์ุสัทธ์
บรรณาธิการ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์
หนังสือที่รวมบทสวดพุทธคุณครบถ้วน