วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชานั้นสำคัญไฉน

1. วันประทานหลักการในการประกาศศาสนาแก่หมู่สงฆ์
2. เป็นวันแห่งพระสงฆ์

หากพูดถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เราชาวพุทธทั่วไปจะทราบกันดีว่า มี ๓ วันด้วยกัน คือ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา และวันมาฆบูชา
.
แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า
.
วันวิสาขบูชา ถูกยกให้เป็นวันพระพุทธ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๓ เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน
.
วันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ นั้น ถูกยกให้เป็นวันแห่งพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
.
วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ ถูกยกให้เป็นวันแห่งพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทอันเป็นทั้งอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการประกาศศาสนาแก่พระสงฆ์หมู่ใหญ่ 1,250 รูป ก่อนส่งไปประกาศศาสนาให้แผ่หลายยังที่ต่างๆ

โอวาทที่พระพุทธเจ้าประทานแก่พระสงฆ์ 1,250 รูปในวันนั้น มีใจความดังนี้

“สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
เอตัง พุทธานะสาสะนัง

แปลได้ใจความว่า

การไม่ทำบาปทั้งปวง
การยังกุศลให้ถึงพร้อม
การชำระจิตของตนให้ผ่องใส
ธรรม 3 อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

โอวาทในส่วนนี้ พระพุทธเจ้าได้วางหลักหรือตีกรอบคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้ภิกษุ 1250 รูปได้เห็นชัดเจนว่า พระพุทธศาสนานั้นมีแนวทางการสอนเป็นอย่างไร กล่าวได้ว่า โอวาทที่ให้ในส่วนนี้ เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งหมด
..
สรุปย่อๆ ให้จำง่ายว่า


ละชั่ว

ทำดี

ทำจิตให้ผ่องใส


โอวาททั้ง ๓ ข้อนี้ ทำให้พระหมู่สงฆ์ได้เข้าใจถึงหลักการและแนวคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดเป็นความเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิพล ยืนยาวมาจวบจนปัจจุบัน

มีข้อสังเกตอยู่ว่า หลักคำสอนในศาสนาอื่นส่วนใหญ่อยู่ใน ๒ หลักการแรก คือ สอนให้คนละชั่ว ทำดี เท่านั้น ไม่มีคำสอนให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใส และถึงแม้จะมีการสอนวิธีชำระจิตบ้างก็เป็นเพียงผิวเผิน ไม่ถึงขั้นดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เฉกเช่นพระพุทธศาสนาเลย

มีพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียวเท่านั้น ที่มีหลักการและหลักปฏิบัติเพื่อชำระจิตให้ผ่องใสจนเข้าถึงความดับทุกข์อย่างเหตุผล

————————-


รวบรวมเรียบเรียงโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
น.ธ.เอก, ป.ธ.๗, พธ.บ. (ภาษาไทย)
บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์


SHOPPING CART

close