บุญ ทำอย่างไร ? มีอะไรบ้าง ?

บุญกิริยาวัตถุ ๓

๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้

๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้

๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยเจริญภาวนา

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตน

๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวาย

๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง

บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า เรื่องทำบุญ
หรือวิธีการทำบุญ

ก่อนที่จะเรียนถึงวิธีทำบุญ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า บุญ คืออะไร

บุญ แปลว่า ความดี ความสะอาด ความผ่องแผ้วแห่งจิต ตรงข้ามกับคำว่า บาป ที่แปลว่า ความชั่ว ความเสื่อมเสีย ความสกปรก ความเศร้าหมองแห่งจิต

การทำ การพูด การคิดใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อทำจิตให้ผ่องใส ทำจิตให้ขาวสะอาดปราศจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ การกระทำ การพูด การคิดนั้น ทานจัดเป็นบุญ ตรงกันข้ามกับการกระทำ การพูด การคิดใดที่ทำให้จิตเศร้าหมอง สกปรกด้วยโลภะ โทสะ โมหะ การกระทำ การพูด การคิดนั้น ท่านจัดเป็นบาป ดังนั้น บุญ-บาป จึงอยู่ที่จิตใจ

บุญนี้ พระพุทธเจ้าสอนให้พยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะบุญย่อมนำความสุขมาให้ (สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบุญ เป็นเหตุนำสุขมาให้) และให้ละเว้นจากบาปทั้งปวง เพราะบาปที่ทำแล้วย่อมนำความทุกข์มาให้ (ทุกโข ปาปัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบาปเป็นเหตุนำทุกข์มาให้)

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า บุญ คือสภาพจิตที่สะอาดหมดจดจากกิเลส บาป คือสภาพที่จิตเศร้าหมองด้วยกิเลส และบุญกิริยาวัตถุ ก็คือวิธีชำระกิเลสในใจ

กิเลสของคนเรานั้นมีมากมายหลายร้อยพัน แต่เมื่อว่าโดยสรุปแล้วก็มีอยู่ ๓ สาย คือ สายโลภะ สายโทสะ สายโมหะ (อกุศลมูล ๓) ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดงบุญกิริยาวัตถุไว้ ๓ ประการ เพื่อเป็นคู่ปราบกับกิเลสทั้ง ๓ สาย เปรียบเหมือนข้าศึกยกทัพเข้ามาตีเมือง ๓ ด้าน เราก็ต้องจัดกองทัพออกไปปราบทั้ง ๓ ด้าน จึงจะสามารถรักษาเมืองคือ ใจ เอาไว้ได้

อธิบายบุญกิริยาวัตถุ ๓
ประเด็นที่ต้องศึกษามีอยู่ ๓ ประเด็น คือ ๑) เป้าหมายของบุญกิริยาวัตถุแต่ละข้อ ๒) หลักการปฏิบัติ และ ๓) ผลที่จะได้รับ

๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้การเสียสละ

ทาน คือ การเสียสละให้ปันสิ่งของของตน เพื่อช่วยเหลือและอนุเคราะห์ผู้อื่น

เป้าหมาย : เพื่อกำจัดกิเลสสายโลภะ ความโลภอยากได้

หลักการปฏิบัติ : บริจาคทรัพย์สิ่งของของตนให้แก่บุคคลที่ควรให้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ให้โดยเจาะจงผู้รับ ๒) ให้โดยไม่จงเจาะผู้รับ การให้ทานนั้นท่านให้คำนึงถึงหลักใหญ่ ๆ ๓ ประการ คือ

๑. วัตถุ คือ ของที่ให้นั้นต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ได้มาในทางที่สุจริต และควรเป็นของที่ผู้รับนำไปใช้ประโยชน์ได้

๒. เจตนา คือ ผู้ให้ต้องมีเจตนาที่จะให้จริง ๆ โดยมุ่งที่จะชำระกิเลสคือโลภะ มีจิตใจที่เบิกบานทั้งก่อนให้ ขณะให้ หรือหลังให้ ไม่นึกเสียดาย

๓. ผู้รับ ควรเป็นคนดี มีความสุจริต เป็นผู้ที่เราเชื่อมั่นว่าจะนำทรัพย์ที่เราให้นั้นไปใช้ในทางที่ถูก ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายแก่ผู้อื่น

ผลที่จะได้รับ : ได้กำจัดกิเลสคือโลภะ ความละโมบโลภมาก ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ทำให้เป็นคนมีเมตตา โอบอ้อมอารี มีน้ำใจ เป็นที่รักของคนทั่วไป

คลิ๊กที่นี่เพื่อดูตัวอย่างการให้หนังสือเป็นธรรมทาน ของมูลนิธิจิตอิ่มบุญบารมีฯ

๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

ศีล หมายถึง การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย คือ ไม่ทำชั่วทางกาย และวาจา

เป้าหมาย : เพื่อกำจัดกิเลสสายโทสะ ป้องกันการทำชั่วทางกาย ทางวาจา

หลักการปฏิบัติ : งดเว้นจากการประพฤติที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา ควบคุมการกระทำ การพูดให้เป็นปกติ โดยเลือกรักษาศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗, ศีล ๓๑๑ ตามสมควรแก่ภาวะและความสามารถของตน

ผลที่จะได้รับ : ผู้ที่ตั้งมั่นในศีลและรักษาให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ จิตใจย่อมอ่อนโยน ปราศจากความคิดประทุษร้าย อาฆาตพยาบาท มีกาย วาจาที่สงบเรียบร้อยเป็นปกติ ไม่เดือดร้อนหรือเป็นทุกข์เพราะกิเลสที่เกิดจากอำนาจโทสะ

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
ภาวนา หมายถึง การอบรมพัฒนาจิตให้เกิดความรู้ความเห็นในทางที่ถูกตามความเป็นจริง

ป้าหมาย : เพื่อกำจัดกิเลสสายโมหะ คือความหลงไม่รู้จริงให้หมดไป

หลักการปฏิบัติ : มี ๓ วิธี คือ

๑) แสวงหาความรู้ด้วยการฟัง การอ่าน การเขียน การศึกษาเล่าเรียน ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา

๒) แสวงหาความรู้ด้วยการคิด การตริตรองสิ่งต่าง ๆ ตามหลักเหตุผล เรียกว่า จินตมยปัญญา

๓) แสวงหาความรู้ด้วยการเจริญกรรมฐาน ๒ ประการ คือ สมถกรรมฐาน

(การฝึกสมาธิทำใจให้สงบ) และวิปัสสนากรรมฐาน (การฝึกอบรมปัญญาด้วยการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ตามกฎไตรลักษณ์) เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ผลที่จะได้รับ : ทำให้เป็นคนฉลาด มีเหตุมีผล กระทำสิ่งใดก็ทำด้วยความเข้าใจจริง ไม่หลงงมงาย รู้สิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่หลงยึดมั่นถือมั่น มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ

คลิ๊กที่นี่เพื่อดูกิจกรรม ศีล สมาธิ ปัญญา ของมูลนิธิฯ

ตัวอย่างความดีที่จัดในบุญกิริยาวัตถุ ๓

ทานมัยสีลมัยภาวนามัย
– ใส่ซองผ้าป่า– การแสดงความเคารพ– สวดมนต์ไหว้พระ
– ถวายสังฆทาน– ความอ่อนน้อมถ่อมตน– ท่องหนังสือ
– ใส่บาตร– ไม่ละเมิดกฎระเบียบ– การฟังธรรม
– แสดงธรรมเทศนา– ห่มผ้าเป็นปริมณฑล– การอ่านหนังสือ
– ให้อภัย ฯลฯ– พูดมีหางเสียง ฯลฯ– การแผ่เมตตา ฯลฯ

อธิบายบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในพระไตรปิฎกนั้น มีเพียง ๓ ประการตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ เป็นส่วนที่พระอรรถกถาจารย์นำมาขยายให้มีความหลากหลายและให้ชาวพุทธได้มีวิธีการทำบุญมากขึ้น มีอธิบายตามลำดับข้อ ดังนี้ ๑-๓. ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย มีอธิบายเหมือนบุญกิริยาวัตถุ ๓

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตน
หมายถึง การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน และแสดงความเคารพสักการะในบุคคล หรือในสถานที่ที่ควรเคารพ
เป้าหมาย : เพื่อกำจัดความถือตัว ทำลายทิฏฐิมานะ อันเป็นกิเลสสายโทสะ

หลักการปฏิบัติ : มีความเคารพยำเกรงในบุคคลที่ยิ่งกว่าตนโดยชาติกำเนิด เช่น พระราชามหากษัตริย์ ยิ่งกว่าตนโดยวัย คือมีอายุมากกว่า เช่น ลุง ป้า น้า อา และยิ่งกว่าตนด้วยคุณความดี เช่น บิดามารดา พระพุทธเจ้า

ผลที่จะได้รับ : ได้ทำลายทิฏฐิมานะ ซึ่งเป็นกิเลสที่ทำให้จิตเศร้าหมอง กลายเป็นที่รักใคร่และสรรเสริญของคนทั่วไป อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเจริญแก่ผู้ที่มีปกติกราบไหว้

๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่เป็นกุศล
หมายถึง การให้ความช่วยเหลือในกิจที่เป็นประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวม

เป้าหมาย : เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวที่เป็นกิเลสสายโลภะ ให้เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี มีเมตตาต่อผู้อื่น

หลักการปฏิบัติ : ช่วยขวนขวายในกิจธุระของผู้อื่นหรือของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยด้วยกำลังแรงกาย กำลังทรัพย์ หรือกำลังความคิด ไม่นิ่งดูดายกลายเป็นคนใจดำ

ผลที่จะได้รับ : ได้กำจัดกิเลสคือความเห็นแก่ตัวในใจตน และช่วยส่งเสริมภารกิจของคนอื่นให้สำเร็จอีกด้วย

๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยให้ส่วนบุญ
หมายถึง การให้สิ่งดี ๆ ที่ตนมีอยู่แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นวิชาความรู้ เทคนิคหรือเคล็ดลับต่าง ๆ ที่ทำให้การงานนั้นสำเร็จ หรือการอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลที่ตนทำแล้วแก่ญาติมิตรและสรรพสัตว์ทั้งหลาย

เป้าหมาย : เพื่อลดละความโลภในใจให้น้อยลง

หลักการปฏิบัติ : ถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีอยู่และเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่หวงแหนเก็บงำเอาไว้ เพราะเมื่อตนตายไปแล้วจะได้มีผู้สืบทอดความรู้ต่อไป อีกประการหนึ่ง เมื่อทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถวายทาน สวดมนต์ ฯลฯ ก็อุทิศส่วนบุญไปให้ผู้ที่ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวรด้วย

ผลที่จะได้รับ : ได้กำจัดความตระหนี่ในใจ ได้รับความสุขใจอันเกิดจากการเสียสละ ความรู้หรือความดีของตนได้รับการเผยแพร่ออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกมากมาย

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
หมายถึง การแสดงความยินดีในการทำความดีของผู้อื่น ไม่มีจิตริษยา

เป้าหมาย : เพื่อกำจัดกิเลส คือถัมภะ ความหัวดื้อแข่งดี ความริษยา

หลักการปฏิบัติ : ยินดีอนุโมทนากับความสำเร็จของผู้อื่น และนำมาเป็นแบบในการดำเนินชีวิตของตน

ผลที่จะได้รับ : ได้กำจัดกิเลสคือความถือตัวแข่งดี ความอิจฉาริษยาในใจ จิตใจย่อมเป็นสุขและเบาสบาย มีพลังในการที่จะทำความดีให้ได้อย่างเขา

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
หมายถึง การตั้งใจฟังในสิ่งที่ดีมีประโยชน์

เป้าหมาย : เพื่อให้เกิดปัญญาความรอบรู้ ความเห็นชอบ และกำจัดกิเลสคือโมหะ ความหลง ความเห็นผิดต่าง ๆ

หลักการปฏิบัติ : เลือกฟังในสิ่งที่ดี เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ฟังการบรรยายธรรม ตั้งใจฟังครูอาจารย์ที่สอน หรือหมั่นอ่านหนังสือ และสอบถามข้อข้องใจสงสัยต่าง ๆ

ผลที่จะได้รับ : เป็นคนฉลาดรอบคอบ มีเหตุมีผล รู้ว่าอะไรดี-ชั่ว อะไรควรทำและไม่ควรทำ เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
หมายถึง การทำความดีด้วยการให้ความรู้

เป้าหมาย :เพื่อให้เกิดความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับความรู้

หลักการปฏิบัติ : ตักเตือน ชี้แนะ แนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควรแก่ผู้อื่น เช่น การแสดงธรรมเทศนา การบรรยายธรรม การสอนหนังสือ การแนะนำความรู้ในวิชาการต่าง ๆ
ผลที่จะได้รับ : ได้กำจัดความเห็นแก่ตัว ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความรู้ ทำให้ตนมีความรู้และชำนาญในเรื่องนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น แม้พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญว่า การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง
หมายถึง ทำความเห็นให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เป้าหมาย : เพื่อให้กำจัดความเห็นผิด อันเป็นกิเลสสายโมหะ

หลักการปฏิบัติ : มีศรัทธาเชื่อในพระพุทธเจ้า, เชื่อในพระธรรม, เชื่อในกฎแห่งกรรม

ผลที่จะได้รับ : เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง ย่อมชักนำให้การทำ การพูด และการคิดถูกต้อง

SHOPPING CART

close