บทสวดพุทธคุณ ๓ ประการ

พุทธคุณคืออุดมมงคลสูงสุด

พุทธคุณ หมายถึง คุณงามความดีของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่มากมายหลายประการ ไม่อาจจะนำมาพรรณนาให้หมดได้ จัดเป็นคุณอันประเสริฐและเป็นอุดมมงคลอันสูงสุด ที่เมื่อผู้ใดกล่าวสรร เสริญก็ดี ตามระลึกถึงก็ดี ย่อมอำนวยความสุข ความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ตลอดถึงความไม่มีทุกข์แก่ผู้นั้น ตามสมควรแก่การปฏิบัติ

พุทธคุณหรือคุณของพระพุทธเจ้านั้น ได้ชื่อว่า เป็นอุดมมงคลสุงสุด เพราะ

๑. เป็นพระคุณที่เกิดจากการสร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่ ๑๐ ประการ มีทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมบารมี เป็นต้น ทั้ง ๓ ระดับ คือระดับบารมี (ระดับสามัญ) อุปบารมี (ระดับกลาง) ปรมัตถบารมี (ระดับสูงสุด) รวมได้ ๓๐ ประการ ที่เรียกว่า บารมี ๓๐ ทัศ นับเวลาได้ ๔ อสงไขย ๑ แสนมหากัป ซึ่งบารมีทั้งหมดที่ทรงสั่งสมมานี้ได้เป็นบาทฐานให้พระองค์ได้บรรลุคุณอันยิ่งใหญ่ คือการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐนานัปการ ซึ่งเป็นคุณที่ยิ่งใหญ่ หาไม่ได้ในหมู่มนุษย์และเทวดา

๒. เป็นพระคุณที่มีอานุภาพในการช่วยคุ้มครองป้องกันและขจัดทุกข์ โศก โรค ภัยทั้งหลายให้หมดสิ้นไป และให้สำเร็จผลในสิ่งที่ปรารถนา อาทิเช่น นำเอาพุทธคุณมาผูกเป็นคาถาสำหรับเสกเป่าเพื่อป้องกันภัยบ้าง เป็นเมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวยบ้าง ปลุกเสกเครื่องรางของขลังบ้าง หรือนำอักขระในพุทธคุณที่เป็นยันต์ต่างๆ สักตามตัวบ้าง เขียนลงในแผ่นยันต์ แผ่นผ้า ตะกรุด บ้าง โดยที่สุดนำมาเป็นบทสวดมนต์เพื่อให้ดวงจิตมีความสงบ เบาสบาย ผ่อนคลายจากเรื่องวุ่นวายต่างๆ ในแต่ละวัน เช่น บทสวดอิติปิโส บทอิติปิโสรัตนมาลา เป็นต้น

๓. เป็นพระคุณที่สามารถนำผู้ที่นับถือให้จากพ้นทุกข์ เข้าถึงบรมสุขกล่าวคือพระนิพพานได้ ด้วยการนำพุทธคุณมาเป็นอุบายในการเจริญสติฝึกฝนอบรมจิตให้ตั้งมั่น และเกิดปัญญารู้แจ้งในธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน เรียกว่า เจริญพุทธานุสสติ (การเจริญสติด้วยการตามระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) เช่น การปฏิบัติสมาธิตามแบบของพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ใช้วิธีนั่งหลับตาเอาสติกำหนดดูลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้าภาวนาว่า “พุธ” หายใจออกภาวนาว่า “โธ” ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่ก่อเกิดพ่อแม่ครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย

พุทธคุณที่ใช้ในบทสวดมนต์

พุทธคุณนั้นเป็นอุมดมมงคลอันสูงสุด มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และความเป็นสิริมงคลอยู่ในตัว มีการนำมาประยุกต์ในรูปแบบต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือการนำบทพระพุทธคุณมาเป็นสวดมนต์ โดยมีจุดประสงค์อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) เพื่อสรรเสริญและยังให้จิตเลื่อมใสในคุณของพระพุทธเจ้า

๒) เพื่อเป็นอุบายทำให้ใจสงบจากเรื่องวุ่นวายต่างๆ และสะสมบุญกุศลในใจให้มากยิ่งขึ้น

๓) เพื่อป้องกันและกำจัดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้หมดไปและให้เกิดสิ่งที่ดีงามเป็นมงคลแก่ชีวิต

บทสวดพุทธคุณ ๓

บทสวดพุทธคุณ ๓ นี้ เป็นบทสวดที่เบสิกที่ชาวพุทธทุกคนมีความคุ้นเคย ได้ยิน ได้ฟัง และได้สวดกันบ่อยที่สุด แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีชาวพุทธคนใดสวดบทนี้ไม่ได้ นั่นคือ บทสวดนมัสการพระพุทธเจ้า หรือบทนะโม ๓ จบ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า บทปุพพภาคนมการ

บทสวดนะโม ๓ จบนี้

เป็นบทสวดสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการคือ

๑.พระกรุณาคุณ ๒.พระวิสุทธิคุณ และ ๓.พระปัญญาคุณ

ซึ่งพระคุณทั้งหมดของพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะมีมากเพียงก็สรุปรวมลงในพระคุณ ๓ ข้อนี้ และเมื่อผู้ใดก็ตามได้บทนะโม ๓ จบนี้ก็เท่ากับได้สวดสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหมด

๑. ความที่พระองค์มีน้ำพระทัยเอ็นดูต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ประกาศศาสนาไม่เห็นแก่ความสุขส่วนพระองค์ มุ่งแต่ประโยชน์สุขแก่ชาวโลก นี้เป็นพระกรุณาคุณของพระองค์

๒. ความที่พระองค์เป็นพระอรหันต์ ห่างไกลจากกิเลส ไร้ซึ่งความโลภ โกรธ หลง นี้จัดเป็นพระวิสุทธิคุณของพระองค์

๓. ความที่พระองค์ทรงสามารถรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตัวของพระองค์เอง ไม่มีผู้ใดกล่าวสอน นี้จัดเป็นพระปัญญาของพระองค์

บทสวดพุทธคุณ ๓ ประการ

เราสามารถสวดสรรเสริญพระคุณทั้ง ๓ ประการด้วยบทว่า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.

แปลตามศัพท์ได้ว่า นะโม (ขอนอบน้อม) ภะคะวะโต (แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า) ตัสสะ (พระองค์นั้น) อะระหะโต (ซึ่งเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส) สัมมาสัมพุทธัสสะ (ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง).

๑. ภะคะวะโต มาจากศัพท์เดิมว่า ภควา แปลว่า ผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ คือทรงคัดเลือกธรรมสำหรับแสดงแก่สรรพสัตว์ให้เหมาะสมแก่อุปนิสัย เพื่อให้ผู้นั้นได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟังธรรม เป็นคำที่แสดงถึงความกรุณาที่พระองค์มีต่อสรรพสัตว์ จึงจัดเป็นพระกรุณาคุณ

๒. อะระหะโต มาจากคำว่า อรหนฺต แปลว่า ผู้เป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส คือเป็นผู้ชำระกิเลสทั้งหลายทั้งปวงหมดสิ้นแล้วจากใจ เป็นผู้บริสุทธิ์เกลี้ยงเกลาแล้วจากกิเลส ข้อนี้จึงจัดเป็นพระวิสุทธิคุณของพระองค์

๓. สัมมาสัมพุทธัสสะ มาจากคำว่า สมฺมา (โดยชอบ) + สํ (พระองค์เอง) + พุทฺธ (ตรัสรู้ รู้แจ้ง) แปลว่า ผู้ตรัสรู้ หรือรู้แจ้ง โดยชอบด้วยพระองค์เอง ไม่มีผู้ใดเป็นครู คำนี้จึงเป็นคำที่แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธองค์


ประวัติความเป็นมา

มีปรากฏในหนังสือ ฎีกานะโม ว่า บทสวดนะโมนั้นเกิดจากการนำคำสรรเสริญของเทวดา ๕ ตนที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อถามปัญหา แล้วเกิดความเลื่อมใสจึงพากันกล่าวสรรเสริญคนละดังนี้ คือ

สาตาคิรียักษ์ กล่าวสรรเสริญว่า “นะโม”

อสุรินทราหู กล่าวสรรเสริญว่า “ตัสสะ”

ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ กล่าวสรรเสริญว่า “ภะคะวะโต”

ท้าวสักกเทวราช กล่าวสรรเสริญว่า “อะระหะโต”

ท้าวมหาพรหม สรรเสริญว่า “สัมมาสัมพุทธัสสะ”


การประยุกต์ใช้

บทนะโม ๓ จบนี้ เป็นบทสวดกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าโดยตรง มีหลักการใช้ ๒ ประการคือ

๑. ใช้เป็นบทกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าเป็นเบื้องต้นก่อนทำกิจอย่างอื่น เช่น ก่อนแสดงธรรม ก่อนสมาทานศีล ก่อนเจริญพระพุทธมนต์ สวดมนต์ ก่อนว่าคาถา ก่อนทำวัตรเช้า-เย็น หรือประกอบพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ชาวพุทธจะนิยมตั้งนะโม ๓ จบก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการไหว้พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูก่อนเพื่อให้พิธีกรรม หรือกิจที่ทำนั้นสำเร็จผลดังปรารถนา
การสวดนะโมนั้น นิยมกล่าว ๓ จบ ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำถึงความเคารพที่ตนมีต่อพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง เพื่อเตรียมจิตให้นิ่งสงบมีความพร้อมก่อนทำกิจนั้นๆ อย่างหนึ่ง

๒. ใช้สวดเป็นบทบริกรรม หรือใช้เป็นมนต์คาถาประจำตัวเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพื่อป้องกันภัยอันตรายแก่ตน

๓. ใช้เป็นบทบริกรรมเพื่อเจริญสติที่เรียกว่า พุทธานุสสติ คือการเจริญสติด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ด้วยการกล่าวนะโม ตัสสะ อยู่ทุกลมหายใจ ให้จิตตั้งมั่นอยู่กับบทนะโมไม่ให้วอกแวกไปคิดเรื่องอื่น เมื่อทำอย่างนี้บ่อยจิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิ และเกิดปัญญาในการพิจารณาธรรมให้เห็นตามเป็นจริงต่อไป


พุทธคุณ ถือเป็นยอดแห่งอุดมมงคล
เสกใส่พระเครื่องก็ศักดิ์สิทธิ์ เขียนเป็นยันต์ก็เกิดฤทธิ์อานุภาพ
ดัดแปลงเป็นมนต์คาถาภาวนาก็เกิดผล ๑๐๘ ประการ
นำมาสวดสรรเสริญเช้า-เย็นก่อนนอนก็เป็นบุญกุศล
ใช้เป็นอารมณ์ในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
ตามหลัก “พุทธานุสสติ” จิตก็ตั้งมั่นเกิดปัญญารู้แจ้งในธรรม
นำให้ถึงความพ้นทุกข์ได้
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธคุณจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใดสร้างให้เกิดมีขึ้นในกาย
ในใจตนแล้ว ย่อมบังเกิดความเป็นสิริมงคล
อุดมด้วยความสุข ความเจริญยิ่ง


บทความโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
บรรณาธิการ บริษัท สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ จำกัด

หนังสือที่รวมบทสวดพุทธคุณครบถ้วน

SHOPPING CART

close